อีสานจะไม่สิ้นมนต์ขลัง หากทุกคนรวมพลังสืบสานประเพณีไว้

ผีฟ้า

ผีฟ้า หมายถึงผีซึ่งมีวิมานอยู่บนฟ้า ซึ่งก็คือเทวดานั่นเอง ผีฟ้าไม่ใช่สิ่งน่ากลัวเหมือนผีชนิดอื่นๆ ผีฟ้าเป็นผีที่ให้คุณมากกว่าให้โทษ เพราะเป็นผีที่คอยคุ้มครอง
ดูแล รักษามนุษย์หากพูดตามความเชื่อทางภาคอีสานแล้ว เจ้าแห่งผีฟ้า ก็คือพญาแถน นั่นเอง พญาแถน เป็นเทวดาปกครองเมืองฟ้าเมืองสวรรค์
และทำหน้าที่คอยดูแลให้ความช่วยเหลือมนุษย์ด้วยผีฟ้า หลายๆ คนได้ฟังแล้ว อาจคิดในแง่ลบ นั่นอาจเนื่องมาจาก มีปอบผีฟ้าเกิดขึ้นนั่นเอง ปอบผีฟ้า
ไม่ไม่ได้หมายความว่า ผีฟ้าเป็นปอบนะครับ แต่หมายถึง คนทรงผีฟ้าต่างหากที่เป็นปอบ เป็นปอบเพราะรักษาข้อห้ามไม่ได้
ผีฟ้า มีบารมีค่อนข้างมาก สามารถล่วงรู้สิ่งที่มนุษย์ธรรมดาไม่รู้ ดังนั้น เมื่อมีเหตุการณ์ที่คนธรรมดาบอกไม่ได้ เช่น ควายหาย คนหาย คนเจ็บป่วยไม่สบาย เป็นต้น
ชาวบ้าน ก็มักจะเชิญคนทรงผีฟ้า มาเข้าทรงและดูให้ ซึ่งในอดีต(ที่ผีฟ้ามาเข้าทรงจริงๆ) ก็บอกได้ค่อนข้างแม่นยำ จนเป็นความเชื่อและถือปฏิบัติกันสืบมา
คนทรงผีฟ้า มีสองแบบ คือแบบนั่งทรงธรรมดา และแบบรำทรง ที่พบเห็นบ่อยๆ ก็คือแบบรำทรง ซึ่งมักเรียกว่า รำผีฟ้า และ ลำผีฟ้า
รำผีฟ้า คือการฟ้อนรำประกอบเสียงแคนเสียงลำ
ลำผีฟ้า คือการขับร้องประกอบเสียงแคน
หมอลำผีฟ้า คือคนที่ขับร้องและฟ้อนรำประกอบเสียงแคน
กลอนลำสำหรับบวงสรวงบูชาผีฟ้า เป็นกลอนลำเฉพาะผู้เล่าเรียนเท่านั้น ทางภาคอีสาน ตามหมู่บ้านต่างๆ หลายหมู่บ้าน จะมีคณะหมอลำผีฟ้าอยู่
หนึ่งคณะอาจจะมีประมาณ2-5คน ซึ่งจะมีหัวหน้าคณะ(โดยมากเป็นผู้หญิง) เรียกว่า แม่หมอ แม่หมอ จะเป็นผู้นำในการทำพิธีตั้งแต่ต้นจนจบ
คนที่จะลำผีฟ้าได้ จะต้องมีครู มีคาย (คายหมายถึงของบูชาครู).... หากผิดครู ผิดคาย... ก็เป็นปอบ
ผิดครู หมายถึง ผิดจากข้อปฏิบัติที่ครูสอนสั่ง
ผิดคาย หมายถึง ของบูชาครูไม่ตรงตามที่ครูระบุกำชับ (ขาดของสำคัญ)
หมอลำผีฟ้า ไม่ใช่หมอลำสำหรับเฉลิมฉลองขบงัน แต่เป็นหมอลำที่ใช้สำหรับรักษาอาการป่วยของคน โดยมากมักเป็นอาการป่วยแบบกินยาแล้วไม่หาย
หาหมอรักษาไม่ได้ บางคน ป่วยเป็นโรคทางจิตแบบซึมเซา เหงาหงอย บางคน นอนซมกินข้าวไม่ได้ ก็จะเชิญหมอลำผีฟ้ามารักษา....นอกจากนั้น อาการอื่นๆ
เช่นหากคาดเดาว่า มีผีมาทำร้าย โดนคาถาอาคม หรือโดนของ ก็ใช้หมอลำผีฟ้า ได้เช่นกัน
คนที่เคยได้รับการรักษาจากหมอลำผีฟ้าคณะไหน.... หากวันหน้าหมอลำผีฟ้าคณะนั้นมาลำที่หมู่บ้านตน แม้จะรักษาคนอื่นก็ตาม คนที่เคยได้รับการรักษานั้น
ก็ต้องเข้าร่วมพิธีด้วย มิเช่นนั้น เชื่อกันว่า อาจเจ็บป่วยเป็นโรคเดิมได้อีก... ประเด็นนี้นี่เอง ทำให้เมื่อหมอลำผีฟ้ามาลำ คนเข้าร่วมจึงมีมากขึ้นๆ เมื่อมีคนเข้าร่วมมากขึ้น
ความสนุกสนาน ร่าเริง เคล้ากับเสียงลำเสียงแคน จึงเกิดขึ้นได้ง่าย
การรักษาอาการเจ็บป่วยของผีฟ้า มีสองแบบ คือ
แบบแรก ผีฟ้าอาจจะเข้าสิงร่างใครคนใดคนหนึ่งที่เข้าร่วมพิธี และบอกว่า คนเจ็บป่วยนั้น โดนอะไรมา ไปทำผิดอะไรมา และให้แก้ไขด้วยวิธีอย่างไร
แบบที่สอง รักษาให้หาย ณ ที่พิธีนั้นเลย ซึ่งแบบที่สองนี้ หากมองในแง่จิตวิทยา อาจกล่าวได้ว่า จิตตนรักษาจิตตน นั่นเอง หมายถึง เมื่อมีความครึกครื้นรื่นเริง
ปล่อยจิตใจไปกับเสียงลำเสียงแคน ลุกขึ้นฟ้อนรำ ทำให้จิตใจผ่อนคลายจากความตึงเครียด จิตใจที่ปรอดโปร่ง ทำให้ร่างกายสดใสแข็งแรงขึ้นมาได้

อ้างอิงที่มาจาก http://www.isan.clubs.chula.ac.th/th/index.php

0 ความคิดเห็น: