อีสานจะไม่สิ้นมนต์ขลัง หากทุกคนรวมพลังสืบสานประเพณีไว้

หมากลิ้นไม้ หมากลิ้นฟ้า

"ถ้าพูดถึงอาหารจำพวกป่นและลาบ จะทำให้คิดถึงผักต่างๆมากมาย แต่ผักที่อยู่ไกล้ๆบ้านที่นิยมกันมากก็คือ หมากลิิ้นไม้" เคยกินบ่ล่ะเจ้าๆทั้งหลาย เผาไฟแล้าเอามากินกับป่นกับลาบนี่คักขนาด แต่ตอนยังเด็กน้อยกะบ่มักดอกวามันสิออกขมๆจักหน่อย พอไหย่ขึ้นมากะเลยมักเอง นอกจากมันสิแซบแล้วยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกเด้อ มาทำความเข้าใจดีๆจักบาดเบิ่งดุ

หมากลิ้นไม้ เป็นชื่อท้องถิ่นทางภาคอีสานที่ใช้เรียกต้น "เพกา" นอกจากนี้ยังมีชื่อ "ผักลิ้นฟ้า, ลิ้นไม้, ลิ้นงู" ภาคเหนือเรียก "มะลิ้นไม้, ลิ้นไม้ มะลิดไม้ หรือลิ้นช้าง" ส่วนชื่อ "เพกา" เป็นชื่อท้องถิ่นของทางภาคกลางและภาคใต้ของเรา
เพกาเป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปตามธรรมชาติ จัดเป็นไม้ที่ขึ้นง่ายพบได้ทั่วไปตั้งแต่ ที่ราบเชิงเขา หุบเขา ริมห้วย ลำธาร หนองบึง ตามท้องทุ่งริมทาง ตลอดจนป่าละเมาะใกล้หมู่บ้าน เพกามีชื่อวิทยาศาสตรว่า Oroxylum indicum (Linn,.) Vent. อยู่ในวงศ์ Bignoniaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงชะลูดแตกกิ่งก้านบนยอด ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มี 2-3 ชั้น ออกตรงข้ามถี่ ๆ โดยที่ปลายก้านมีใบเดียว (odd-pinnately compound leave)
ใบย่อยเป็นรูปเรียวยาวคล้ายใบประดู่ เพกาออกดอกในหน้าฝนประมาณเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม โดยช่อดอกจะแทงสูงออกไปทางยอดเหนือใบ 2-3 ฟุต


ดอกของ เพกามีลักษณะกลมยาวคล้ายหลอด มองเผินๆ คล้ายดอกซ่อนกลิ่น แต่ส่วนบนแยกเป็นกลีบๆ อย่างชัดเจน ก้านดอกมีขนสีน้ำตาลไหม้ ดอกอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีม่วงปนแดง ดอกมักจะบานตอนใกล้ค่ำจนตลอดคืน เมื่อติดเป็นผลจะเป็นฝักแบนๆ สีเขียวคล้ายฝักหางนกยุงฝรั่ง (ผลแบบ Silicle) แต่มีขนาดโตและยาวกว่ามักออกห้อยระย้าอยู่เหนือเรือนยอด ฝักแก่มีเมล็ดแบนสีน้ำตาลอ่อน ทั้งสองด้านของเมล็ดมีเยื่อบางใสคล้ายปีก (Wing seed) ช่วยให้ลอยตามกระแสลมไปไกลๆ ทำให้เกิดการแพร่พันธุ์ไปทั่วทุกบริเวณ คนจีนเรียกเมล็ดเพกาว่า "โซยเตียจั้ว" เป็นส่วนผสมที่สำคัญชนิดหนึ่งใน "น้ำจับเลี้ยง" ที่เป็นเครื่องดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ขับความร้อนในร่างกาย สรรพคุณตามตำรับยาไทย พบว่ามีการใช้เพกาตั้งแต่เปลือกต้น ราก ฝัก ใบ และเมล็ด จัดเป็น "เพกาทั้ง 5"

เปลือกต้น มีรสฝาด เย็น ขมเล็กน้อย มีสรรพคุณเป็นยาฝาดสมาน ขับลมในลำไส้ แก้โรคบิด ท้องร่วง บำรุงโลหิต ขับน้ำเหลืองเสีย
ราก มีรสฝาดขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ เรียกน้ำย่อย เจริญอาหาร รักษาโรคท้องร่วง บิด ถ้านำมาฝนกับน้ำปูนใสทาแผลที่อักเสบ ฟกช้ำ บวม ให้หายไปในระยะเวลาอันสั้น
ฝักอ่อน นิยมรับประทานเป็นผัก ช่วยบำรุงธาตุ ขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ
ใบ ต้มน้ำดื่ม แก้ปวดท้อง ขับลม บรรเทาอาการปวดไข้ และยังช่วยให้เจริญอาหาร
เมล็ด สามารถใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ

ใน งานสาธารณสุขมูลฐานได้กำหนดให้เมล็ดเพกาเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่ใช้บรรเทา อาการไอ ขับเสมหะ โดยนำเมล็ดแก่ ครึ่ง-หนึ่งกำมือ (1.5-3.0 กรัม) ใส่ในหม้อ เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร. ต้มไฟอ่อนๆ พอเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง จนอาการไอดีขึ้น

ข้อมูล ทางวิทยาศาสตร์พบว่า สารสกัดที่ได้จากเปลือกต้น มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ การแพ้ (anti-inflammatory and anti-allergic) และยังมีฤทธิ์ที่ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหนูตะเภาในหลอดทดลอง นอกจากนี้การรับประทานฝักเพกาหรือยอดอ่อนยังสามารถช่วยลดคอเรสเตอรอลในกระแส เลือดได้
สำหรับการนำมาบริโภคเป็นอาหารนั้น สามารถบริโภคได้ทั้งยอดอ่อน ดอกอ่อน และฝักอ่อน โดยเก็บกินได้ตลอดทั้งปี จะมีมากที่สุดในช่วยปลายฝนต้นหนาว สามารถพบได้ทั่วไปตามตลาดสดในชนบท โดยชาวบ้านจะเก็บฝักเพกาอ่อนมาขายเป็นมัดๆ การเก็บฝักเพกาอ่อนของชาวบ้าน ต้องใช้ไม้สอยยาวๆ สอยเพราะฝักอยู่สูงตามยอดต้น เลือกเอาฝักที่เขียว ๆ ขนาดไม่ใหญ่มากนัก เมื่อสอยลงมาเอาเล็บมือจิก ถ้าจิกได้แสดงว่าเป็นฝักอ่อนกำลังน่ากิน
การ นำฝักอ่อนของเพกามาปรุงเป็นอาหารนั้น ต้องนำมาเผาไฟแรงๆ จนเปลือกพองไหม้ทั่ว ขูดเอา

ส่วนที่ดำออกให้หมด เหลือแต่ส่วนในที่มีกลิ่นหอม หั่นเป็นชิ้นตามขวางหนาพอประมาณ สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งนำมาเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือนำมาทอดกินกับไข่ หรือนำมาผัดกับหมูต่างผักอื่นก็อร่อย จนทำให้ลืมอาหารจีนรสเด็ดตามภัตตาคารได้อย่างสนิท ในทางโภชนาการพบว่า ฝักอ่อนเพกามีวิตามินซีสูงมาก (484 มิลลิกรัม/100 กรัม) รวมทั้ง วิตามินเอ 8.3 กรัม มีประโยชน์มากในการใช้เป็นอาหารช่วยป้องกันมิให้เซลล์ร่างกายของคนเราแก่ เกินไป ปกป้องอนุมูลอิสระมิให้เกิดขึ้นในร่างกาย อันเป็นผลทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้ ถ้าสามารถรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินอีสูงๆ เช่น รำข้าวในข้าวกล้อง จะช่วยเสริมฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายได้อย่างสมบูรณ์ อีกด้วย
ส่วนยอดและดอกอ่อนสีเหลืองอ่อนเกสรแดงนั้น นำมาปรุงเป็นอาหารได้โดย การลวก ต้ม หรือเคี่ยวหัวกะทิข้นๆ ราดไปบนยอดดอกอ่อนช่วยเพิ่มรสชาติ หอมมันอร่อยในการเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกกุ้งเสียบอย่างกลมกลืน หรือจะนำมาผัดใส่กุ้งก็อร่อย ยิ่งนำมายำใส่กระเทียมเจียวจะช่วยเพิ่มรสชาด เพราะมีรสขมอ่อนๆ คล้ายใบยออันเป็นตัวชูโรงอันวิเศษ ทั้งคุณค่าทางโภชนาการก็ใช่ย่อย ในยอดอ่อน 100 กรัม พบว่าให้พลังงาน 101 กิโลคัลลอรี่ โปรตีน 6.4 กรัม ไขมัน 2.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 13.0 กรัม นอกจากนั้นยังมีวิตามินบี 1 0.18 มิลลิกรัม. วิตามิน บี 2 0.69 มิลลิกรัมและวิตามิน บี 3 2.4 มิลลิกรัม นอกนั้นเป็นเถ้าและน้ำ
ที่มาจาก http://herbal.pharmacy.psu.ac.th


0 ความคิดเห็น: